ขั้นตอนการตรวจ
การเตรียมตัวเพื่อเข้าตรวจเอ็มอาร์ไอ
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเอ็มอาร์ไอมีดังนี้
- ทำจิตใจให้สบายพักผ่อนให้เพียงพอในวันก่อนตรวจ
- อาจต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้าตรวจเป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 6ชั่วโมงในกรณีตรวจช่องท้อง(Upper3Lower abdomen,MRCP)เช่น หากมีนัดตรวจตอนช่วงเช้า ก็ให้งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน และหากมีนัดตรวจตอนช่วงบ่ายให้งดน้ำและอาหารหลัง 7 โมงเช้า
- หากเป็นการตรวจบริเวณสมองและเบ้าตา กรุณางดทาเครื่องสำอางบริเวณขอบตา (eye shadow)
- หากท่านมีโรคประจำตัวหรือเคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือโลหะภายในร่างกายกรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนเข้าตรวจ
- หากท่านสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรตรวจปัสสาวะให้แน่ใจหรือเลื่อนการตรวจไปก่อน
- กรณีที่แพทย์มีความประสงค์ ที่จะฉีดสารทึบแสงเพื่อประกอบการตรวจ ให้กรุณาตรวจเลือดเพื่อดูค่าการทำงานของไตซึ่งได้แก่ ค่า BUN และ Creatinine และนำผลการตรวจมาด้วยในวันตรวจทุกครั้ง
- กรุณานำฟิล์มเอกซเรย์เก่าติดตัวมาด้วยและไม่ควรนำสิ่งของมีค่ามาในวันตรวจ
วิธีวิธีการตรวจเอ็มอาร์ไอ
ผู้ป่วยเพียงนอนหงายบนเตียงตรวจนักรังสีเทคนิคจะติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณบนหน้าท้องของท่าน อุปกรณ์รับสัญญาณมีลักษณะเป็นแผ่นฟองน้ำเบาๆ จึงไม่ทำให้ท่านรู้สึกอึดอัด ท่านอาจจะได้รับการบอกให้ “หายใจเข้าแล้วกลั้นใจนิ่ง”ประมาณ 10-20 วินาที ขณะที่ตรวจเพื่อให้ภาพที่ได้มีความชัดเจน ในการตรวจอวัยวะบางอย่าง เช่นช่องท้อง เป็นต้น การตรวจอาจต้องฉีดสารทึบรังสี (contrast media) ที่เรียกว่า Gadolinium chelating agent เข้าที่เส้นเลือดดำที่แขนร่วมกับการตรวจด้วยเพื่อให้เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนและวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ผลข้างเคียงของสารทึบรังสีต่อร่างกายมีน้อยมาก และยาจะขับออกทางไตภายใน 24 ชั่วโมง
ข้อบ่งชี้ในการตรวจเอ็มอาร์ไอ
เอ็ม.อาร์.ไอ. สามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ชัดเจนทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถทำการตรวจได้ในทุกๆระนาบ ไม่ใช่เฉพาะแนวขวางอย่างเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ใช้ได้ดีกับส่วนที่ไม่ใช่กระดูก (non bony parts) คือเนื้อเยื่อ (soft tissues) โดยเฉพาะ สมองเส้นประสาทไขสันหลัง และเส้นประสาทในร่างกาย ( เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT.Scan ดูภาพกระดูกได้ดีกว่า)ใช้ได้ดีกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดกระดูกและ กล้ามเนื้อสามารถตรวจเส้นเลือดได้โดย ไม่ต้องเสี่ยงกับการฉีดสารทึบรังสีและการสวนสายยางเพื่อฉีดสี ซึ่งมีประโยชน์ต่อวงการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะมีความปลอดภัยสูงและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังสะดวกสบายกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆทั้งก่อนและหลังการตรวจ คนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันทีที่ตรวจเสร็จไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อเหมือนในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT scan เพราะไม่ใช้คลื่นรังสีปัจจุบันได้มีการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(เอ็มอาร์ไอ)เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคของกระดูกและข้อเป็นจำนวนมากการตรวจ เอ็ม.อาร์.ไอ. จะเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในโพรงกระดูก หรือไขกระดูกได้อย่างชัดเจน เช่น เนื้องอกภายในกระดูก เอ็ม.อาร์.ไอ. จะสามารถบอกขอบเขตของโรคได้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษา โรคของกระดูกบางอย่างเช่น การขาดเลือดไปเลี้ยงที่หัวของกระดูกต้นขา เอ็ม.อาร์.ไอ. เป็นการตรวจที่ไวที่สุด สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ แม้ภาพเอ็กซ์เรย์ธรรมดายังปกติอยู่ ข้อที่มีการตรวจ MRI มากที่สุด คือ ข้อเข่า รองลงมา คือ ข้อไหล่ เมื่อสงสัยว่าจะมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกระดูกอ่อนภายในข้อ การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ธรรมดา อาจเห็นเพียงเงาของน้ำในข้อแต่ เอ็ม.อาร์.ไอ.จะเห็นส่วนประกอบต่างๆ ภายในข้อได้อย่างชัดเจนและบอกได้อย่างแม่นยำว่ามีการบาดเจ็บต่อส่วนประกอบเหล่านั้นอย่างไรบ้าง
ข้อควรระวังสำหรับการตรวจเอ็มอาร์ไอ
ควรหลีกเลี่ยงในรายที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น
- ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm clips)
- ผู้ที่ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้เป็นจังหวะ (Cardiac pacemaker)
- ผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม (Artificial cardiac valve)
- ผู้ที่ผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมภายในหู
- สำหรับวัสดุรุ่นใหม่ที่ทำจาก ไทเทเนียม ในการผ่าตัดดามกระดูก หรือที่ใช้เป็นขดลวดใส่ในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary stent) สามารถรับการตรวจ เอ็ม.อาร์.ไอ. ได้ตามปกติ
- ในปัจจุบันยังไม่พบว่าการตรวจ MRI มีอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการตรวจในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
- ห้องตรวจ เอ็ม.อาร์.ไอ. มีสนามแม่เหล็กแรงสูงจะมีผลต่อข้อมูลในแถบแม่เหล็กของบัตร ATM และบัตรเครดิตได้
ข้อจำกัดบางประการของการตรวจเอ็มอาร์ไอ
เอ็ม.อาร์.ไอ. มีลักษณะเป็นอุโมงค์ ผู้ที่กลัวการอยู่ในที่แคบๆ อาจเป็นอุปสรรคในการตรวจ เอ็ม.อาร์.ไอ.สามารถตรวจเนื้องอกหรือมะเร็งที่เล็กที่สุดได้ประมาณ 0.5 ซม. ขึ้นไป หากมีขนาดเล็กกว่านี้อาจตรวจไม่พบเอ็ม.อาร์.ไอ. สามารถตรวจความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายได้เกือบทั้งหมด แต่ในบางอวัยวะการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วยเครื่องมืออื่นๆ จะให้ผลที่ดีกว่า
การตรวจอวัยวะภายในร่างกายด้วยเอ็มอาร์ไอ
สามารถตรวจหาความผิดปกติของร่างกายหรือโรคต่างๆ ได้ตั้งแต่เริ่มก่อตัว เช่น เนื้องอก หรือโรคมะเร็ง ซึ่งตรวจพบขนาดที่เล็กที่สุดได้ประมาณ 0.5 ซม.ขึ้นไป ทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยสามารถตรวจความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้เกือบทั้งหมดตั้งแต่สมองกระดูกสันหลัง ปอด หัวใจ อวัยวะในช่องท้องเช่น ตับ ไต ตับอ่อน รังไข่ และมดลูก