ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะ ออกกำลังกาย
ตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย
Exercise stess test/EST
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย Exercise Stress Test (EST)อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังเดินบนสายพาน Stress Electrocardiogramคือการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจระดับความดันโลหิตและการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพานเลื่อนหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่เพื่อวินิจฉัยโรคและประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
ตีบในผู้ที่มีอาการเช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายหรือหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุหรือในผู้ที่ไม่มีอาการแต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมทั้งบ่งบอกให้ทราบถึงสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย,หลอดเลือดหัวใจและความสามารถในการออกกำลังกายของแต่ละบุคคลการตรวจมักใช้เวลาประมาณ 30 นาที
จุดประสงค์ของการทดสอบ
มุ่งเน้นการตรวจหาภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือขาดเลือดเป็นสำคัญหรืออาจใช้ตรวจหาการเต้นผิดจังหวะที่เกิดร่วมกับการออกกำลังกายอีกด้วย การทดสอบชนิดนี้ใช้ในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วย ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้เป็นอย่างดีหลักการ คือ ให้ผู้ป่วย (หรือผู้ที่ต้องการตรวจ) ออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ (บางแห่งอาจให้ปั่นจักรยานแทน) เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วยหากมีหลอดเลือดหัวใจตีบเลือดจะไม่สามารถเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอกและมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น การทดสอบนี้ยังช่วยบอกแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่และใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษาไม่ว่าจะด้วยยาหรือการขยายหลอดเลือดหรือการผ่าตัด
วิธีการทดสอบ
โดยการให้ผู้รับการทดสอบเดินบนสายพานต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอก 10 สาย เข้ากับเครื่อง Computerในขณะที่เดินอยู่ เครื่อง Computer จะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจ พร้อมทั้งความดันโลหิต ตลอดเวลาในขณะทดสอบจะมีการเพิ่มความเร็วและความชันของเครื่องเป็นระยะๆ ตามโปรแกรมที่จะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบโดยเฉพาะเป็นรายๆ ไปเมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบผู้ทดสอบสามารถทราบผลการทดสอบจากแพทย์ซึ่งจะเฝ้าสังเกตอาการอยู่ด้วยตลอดการทดสอบได้ทันที
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจโดยการเดินสายพาน
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
- ผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี
- ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี (หรือวัยหมดประจำเดือน)
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- มีประวัติโรคความดันโลหิตสูง
- มีประวัติโรคเบาหวาน
- มีประวัติครอบครัว (พ่อ แม่ พี่ น้อง) เป็นโรคหลอดเลือดตีบในสมองหรือหัวใจ
- มีระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงหรือมีไขมัน LDL ในเลือดเกิน 130 mg/dl , HDL ต่ำกว่า 40 mg/dl
- กลุ่มผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ต้องการออกกำลังกายหนักหรือเพิ่งเริ่มมีการออกกำลังกายผู้ที่ต้องการตรวจเช็คสมรรถภาพหัวใจ
การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ
- ควรงดการรับประทานมื้อหนักๆ หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ประมาณ 2 - 4 ชม. ก่อนการทดสอบอนุญาตให้รับประทาน อาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำผลไม้ได้
- ควรสอบถามแพทย์ถึงยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำว่าควรหยุดก่อนการทดสอบหรือไม่ เช่น ยา รักษาโรคหัวใจ ยารักษา ความดันโลหิตสูง หรือยา ขับปัสสาวะ เป็นต้น ยาบางชนิด อาจจำเป็นต้องหยุดก่อนตรวจล่วงหน้า
- ควรสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมต่อการทดสอบเสื้อควรเป็นเสื้อที่มีกระดุมเปิดด้านหน้า เพื่อสะดวกในการเตรียมต่อขั้ว และสายนำไฟฟ้า ถ้าเป็นรองเท้า ผ้าใบจะช่วยให้การเดินทดสอบสะดวกยิ่งขึ้น
- ผู้ทดสอบทุกรายจะต้องลงชื่อในใบยินยอมเพื่อรับการทดสอบก่อนการทดสอบทุกครั้ง
บุคคลที่ไม่เหมาะต่อการทดสอบชนิดนี้
- ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือมีปัญหาปวดเข่า ปวดขาเป็นประจำ เนื่องจากปัญหาทางกระดูก ฯลฯ
- ผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้ หรือมีร่างกายอ่อนเพลีย เพราะจะทำการทดสอบได้ไม่เต็มที่
- ผู้ที่กำลังมีปัญหาท้องเสีย ถ่ายเหลวบ่อยหรือกำลังได้รับยาระบายเพื่อเตรียมการตรวจชนิดอื่นอยู่
การตรวจสมรรถภาพหัวใจ ขณะออกกำลังกายมีความปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตาม อาจเกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงขึ้นได้ แต่พบน้อยมากขณะตรวจ เจ้าหน้าที่จะติดแผ่นขั้วสัญญาณไฟฟ้า ( electrode) ไว้บริเวณทรวงอกของคุณเพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจคุณจะได้รับคำแนะนำถึงวิธีเดินบนสายพานหรือถีบจักรยาน โดยคุณจะต้องออกกำลังเป็นเวลาหลายนาที (ประมาณ 10-15 นาที )แพทย์จะปรับความเร็วและความชันของสายพานทุกๆ 3 นาที การออกกำลังช่วงแรกจะเริ่มช้า ๆ ก่อนจากนั้นจะค่อย ๆ เร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทีละน้อยอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดจะถูกบันทึกตั้งแต่ก่อนออกกำลังกายขณะออกกำลังและหลังการออกกำลัง ถ้ารู้สึกมีความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีรู้สึกอึดอัดบริเวณหน้าอก แขน หรือขากรรไกร หายใจไม่ออก เหนื่อยมาก มึนงง เวียนศีรษะ ปวดหรือเป็นตะคริวที่ขาเมื่อการตรวจเสร็จสิ้นลง คุณสามารถรับประทานอาหารหรือปฏิบัติตัวได้ตามปกติและอย่าลืมถามแพทย์เกี่ยวกับยาที่คุณได้งดไปก่อนการตรวจด้วยผลการตรวจของคุณจะทำให้ แพทย์ทราบถึงสภาวะหัวใจของคุณและสามารถแนะนำแนวทางการตรวจรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณต่อไป
เมื่อใดที่ควรตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพาน
- มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ต้องดูการตอบสนองของความดันโลหิตต่อการออกกำลังกาย
- ดูว่ามีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติในขณะออกกำลังกายหรือไม่
- เพื่อบอกความรุนแรงของโรคในรายที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว
- เพื่อตรวจภายหลังการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน
ทำไมจึงต้องตรวจ
ในภาวะปกติหรือขณะพักของผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักจะแสดงอาการผิดปกติใดๆการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผลการตรวจก็มักจะปกติด้วย เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแต่เมื่อมีการออกกำลังกายหรือออกแรงมากกว่าภาวะปกติ กล้ามเนื้อหัวใจจะมีความต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงเพิ่มขึ้นด้วยบริเวณที่เส้นเลือดตีบจะไม่สามารถขยาย ตัวส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอจึงทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขึ้นได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติให้เห็นได้