ช่องท้องส่วนล่าง
ช่องท้องส่วนล่าง
ช่องท้องส่วนล่างประกอบด้วยอวัยวะสำคัญได้แก่ มดลูกและรังไข่ในผู้หญิงต่อมลูกหมากในผู้ชายกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ เอ็ม.อาร์.ไอ. มีประสิทธิภาพที่ดีในการตรวจหาเนื้องอกและมะเร็งของอวัยวะเหล่านี้ (ยกเว้นเนื้องอกและมะเร็งของลำไส้จะใช้การส่องกล้องเพื่อตรวจจะให้ผลการตรวจที่แม่นยำกว่า) เอ็ม.อาร์.ไอ. มีความจำเพาะสูงในการบอกชนิดของก้อนที่มดลูกและรังไข่ว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งสามารถบอกจำนวนก้อนได้แม่นยำทำให้บอกระยะของโรค การกระจายของโรคและวางแผนการรักษาได้ดี นอกจากโรคที่กล่าวข้างต้น ยังมีกลุ่มโรคที่มักพบในสตรีวัยเจริญพันธุ์ได้แก่การเจริญของเยื่อบุมดลูกผิดที่ (endometiosis) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องเรื้อรังปวดประจำเดือนเรื้อรังมีบุตรยากหรือเป็นก้อนในท้องที่
เรียกว่าช็อคโกเล็ตซีส (chocolate cyst) MRI สามารถตรวจหาโรคกลุ่มนี้ได้ดี และ MRI ยังสามารถบอกความผิดปกติของมดลูกและช่องคลอดที่เป็นแต่กำเนิดได้ เช่น มดลูกเจริญผิดปกติหรือการมีพังผืดที่ช่องคลอดอาการเหล่านี้ทำให้มีบุตรยากหรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง
เอ็ม.อาร์.ไอ. ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดีมากในการตรวจหามะเร็งของต่อมลูกหมาก โดยส่วนใหญ่แพทย์จะส่งตรวจเอ็ม.อาร์.ไอ. ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อตรวจให้แน่ชัดว่ามีการกระจายของมะเร็งออกนอกแคบซูลของต่อมลูกหมากหรือไม่ หากยังไม่มีการกระจาย การรักษาโดยการผ่าตัดจะได้ผลดีแต่หากมีการกระจายของมะเร็งออกนอกต่อมลูกหมากไปที่อวัยวะข้างเคียงหรืออวัยวะอื่นๆ เช่น ผนังอุ้งเชิงกรานและกระดูกแล้วการรักษาโดยการผ่าตัดมักจะไม่ค่อยได้ผลดีนักและแพทย์จะเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการฉายรังสีรักษาและให้เคมีบำบัดแทน เอ็ม.อาร์.ไอ. จึงเป็นตัวช่วยตัดสินใจในการเลือกวิธีการรักษาให้แก่แพทย์
นอกจากนี้เครื่องเอ็มอาร์ไอยังสามารถตรวจ
ระบบทางเดินปัสสาวะหรือที่เรียกว่าเอ็มอาร์ยูโรกราฟฟี(MR Urography)
- การตรวจเพื่อค้นก้อนนิ่วหรือความผิดปกติในทางเดินปัสสาวะ
- สามารถตรวจหาตำแหน่งการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะได้
- สามารถตรวจในคนที่ไตวายได้ (ในคนที่ไตวายจะทำ IVP และ RP ไม่ได้)
- สามารถตรวจในคนท้องหรือเด็กเล็กๆได้ เพราะไม่ต้องโดนรังสีเอกซ์
- เป็นทางเลือกหนึ่งของการตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ ข้อดีคือไม่ได้รับรังสีเอกซ์จากการตรวจ แลเหมาะกับผู้ป่วยที่ไตมีปัญหา
- สามารถตรวจในคนที่แพ้อาหารทะเลซึ่งมีความเสี่ยงที่จะแพ้สารทึบรังสีพวก iodine contrasts ซึ่งใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดในการทำ IVP(Intravenous pyelogram) และ RP(Retrograde pyelogram)
- ในผู้ที่เปลี่ยนไตแล้วก็ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นพิษของสารทึบรังสี (contrast nephrotoxicity)
การฉีดสารทึบแสง(Contrast media)
ของการตรวจ เอ็ม.อาร์.ไอ. นั้นจะใช้ยาคนละชนิดกับการตรวจ IVPและ RPเนื่องจากไม่ได้ใช้รังสี ยาที่ใช้เป็นยาที่สังเคราะห์ขึ้นมาโดยเฉพาเรียกว่า Gadolinium ปริมาณการฉีดยาจะน้อยกว่าประมาณ 1:10 ส่วนของการฉีดสีในเอ็กซเรย์ทั่วไป จึงมีโอกาสก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลืนไส้อาเจียน หรือแพ้ยาต่ำมาก ในคนที่แพ้อาหารทะเลสามารถทำได้โดยไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดและจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วทางไต