ตรวจวัดประสิทธิภาพของหัวใจขณะ ออกกำลังกายEST
การตรวจทดสอบประสิทธิภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย(เดินสายพาน)
เพื่อมุ่งเน้นการตรวจหาภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ตีบหรือขาดเลือดเป็นสำคัญ หรือ อาจใช้ตรวจหาการเต้นผิดจังหวะ ที่เกิดร่วมกับการออกกำลังกายอีกด้วย การทดสอบชนิดนี้ใช้ในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วย ที่มีอาการเจ็บ แน่นหน้าอกได้เป็นอย่างดี
หลักการ คือ ให้ผู้ป่วย (หรือผู้ที่ต้องการตรวจ) ออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ (บางแห่งอาจให้ปั่นจักรยานแทน) เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบเลือดจะไม่สามารถเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอจะเกิดอาการแน่นหน้าอกและมีการเปลี่ยนแปลง ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็นการทดสอบนี้ยังช่วยบอกแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่ และใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษาไม่ว่าจะด้วยยาหรือการขยายหลอดเลือดหรือการผ่าตัด
่
ผู้ที่ควรตรวจทดสอบประสิทธิภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย(เดินสายพาน)
ได้แก่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเหล่านี้
• ผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี
• ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี (หรือวัยหมดประจำเดือน)
• ผู้ที่สูบบุหรี่
• มีประวัติโรคความดันโลหิตสูง
• มีประวัติโรคเบาหวาน
• มีประวัติครอบครัว (พ่อ แม่ พี่ น้อง) เป็นโรคหลอดเลือดตีบในสมองหรือหัวใจ
• มีระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงหรือมีไขมัน LDLในเลือดเกิน130mg/dl , HDLต่ำกว่า40 mg/dl
• กลุ่มผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ต้องการออกกำลังกายหนักหรือเพิ่งเริ่มมีการออกกำลังกาย ผู้ที่ต้องการตรวจเช็คสมรรถภาพหัวใจ