โรคต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมาก
เป็นอวัยวะภายในที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้นบริเวณโคนอวัยวะเพศ คนมักเข้าใจผิดว่าต่อมลูกหมากคือลูกอัณฑะ แต่ที่จริงแล้ว ลูกอัณฑะมีหน้าที่สร้างอสุจิ ส่วนต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ
โรคต่อมลูกหมากโต
พบได้ในเพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งพบได้มากขึ้นประมาณว่าเมื่อถึงอายุ 80 ปี ผู้ชายร้อยละ 80 จะเป็นโรคต่อมลูกหมากโตสาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรแต่เชื่อกันว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชายเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมาโตขึ้น โดยทั่วไปถึงแม้ว่าต่อมลูกหมากจะโตขึ้น แต่ส่วนมากมักไม่มีอาการ จนกว่าต่อมลูกหมากจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนไปกดหรือเบียดท่อปัสสาวะจึงทำให้เกิดอาการขึ้น
อาการของโรคต่อมลูกหมากโต
อาการของโรคเกิดจากต่อมลูกหมากโตจนไปกดท่อปัสสาวะให้แคบลงในระยะแรกกระเพาะปัสสาวะยังแข็งแรงสามารถบีบตัวไล่ปัสสาวะออกได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระเพาะปัสสาวะอ่อนแรงลง ไม่สามารถบีบตัวไล่ปัสสาวะออกได้ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัด อาการที่พบได้บ่อยคือ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะกลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง
- ต้องเบ่งปัสสาวะหรือรอนานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้
- ปัสสาวะสะดุดขาดตอนเป็นช่วงๆ ไหลๆ หยุดๆ
- ปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะแล้วยังปวดอีก
- ปัสสาวะไม่ออก
ปกติโรคต่อมลูกหมากโตจะไม่บั่นทอนสมรรถภาพทางเพศอย่างไรก็ตามอาการทางปัสสาวะที่มีปัญหารุนแรง อาจทำให้ดูคล้ายกับว่าสมรรถภาพทางเพศเสื่อมไปด้วยที่สำคัญอีกประการก็คือ โรคต่อมลูกหมากโตไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมากและไม่กลายเป็นมะเร็งแต่อาจพบทั้งสองโรคร่วมกันได้ในบางคน
ผลแทรกซ้อนหากไม่ได้รับการรักษา
การที่ท่อปัสสาวะถูกกดอาจจะทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวได้ไม่ดี เกิดอาการปัสสาวะขัดทำให้ปัสสาวะออกไม่หมดเหลือปัสสาวะบางส่วนในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการตกตะกอนและเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและอาจทำให้ไตเสื่อมหรือไตวายได้
การวินิจฉัยโรค
- แพทย์จะซักประวัติโรคทั่วไปและถามอาการของต่อมลูกหมากโต โดยอาจใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะเพื่อประเมินความรุนแรง
- แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจต่อมลูกหมากเพื่อพิจารณาขนาดและลักษณะผิวนอก เพื่อแยกโรคมะเร็งต่อมลูหมากออกจากโรคต่อมลูกหมากโต
- ตรวจปัสสาวะว่าขัดมากน้อยแค่ไหน และดูปริมาณปัสสาวะที่เหลือค้างตรวจหาว่ามีเลือดหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไม่
- ตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของไตและตรวจ PSA (Prostate Specific Antigen) ซึ่งเป็นสารที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก ค่านี้จะสูงในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- หากจำเป็นอาจตรวจส่องกล้อง cystoscope ตรวจ x-ray หรือตรวจ ultrasound เพื่อดูต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาววะต่อมลูกหมากโตไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากเกิดอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับแต่ละรายไป
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
ในปัจจุบันแม้จะมีการใช้ยามากขึ้น แต่ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะไม่ออก, เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีการอักเสบในทางเดินปัสสาวะเรื้อรังก็จำเป็นต้องใช้การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดที่ใช้กันมานานคือการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไปขูดต่อมลูกหมากด้วยลวดไฟฟ้าปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี่แสงเลเซอร์มาใช้ในการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมาก โดยใช้เทคนิคการทำและแสงเลเซอร์ต่างชนิดกันไป วิธีการหนึ่งคือPhotoselective Vaporization of the Prostate (PVP)โดยการใช้แสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นในช่วง 532 nm. (Green wavelength) ซึ่งเป็นช่วงความยาวคลื่นที่ถูกดูดซึมโดยHemoglobin ในเม็ดเลือดแดงที่เลี้ยงต่อมลูกหมากได้ดี ทำให้เนื้อต่อมลูกหมากระเหยไปการใช้แสงเลเซอร์วิธีนี้มีข้อดีกว่าการใช้ลวดไฟฟ้าที่มีการเสียเลือดน้อยกว่าหลังทำใช้เวลาในการใส่สายสวนปัสสาวะและพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่ามีข้อเสียข้อหนึ่งคือวิธีนี้จะไม่ได้ชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากออกมาตรวจเนื่องจากเนื้อต่อมลูกหมากระเหยไปหมดในรายที่สงสัยว่าจะมีมะเร็งต่อมลูกหมากร่วมด้วยต้องเจาะเนื้อต่อมลูกหมากตรวจก่อน